วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เปาะเต๊ะ กูแบอีแก: ในวันที่กลับคืนสู่ความเมตตาของพระเจ้า

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน หลายปีมานี้ผมไม่ได้เข้ามาเขียนอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับเพลงมลายูเลย เนื่องจากมีพันธกิจมากมายที่ยังทำไม่เสร็จ  อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ผมก็ได้รับข่าวร้ายเมื่อเราได้สูญเสียบุคคลสำคัญในวงการเพลงมลายูปาตานี  เมื่อเปาะเต๊ะ กูแบอีแก นักร้อง นักแสดง และตลกที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่พี่น้องชาวมลายูในจังหวัดชายแดนใต้มานานหลายปีได้จากเราไปแล้ว  เหลือไว้แต่ผลงานและความคิดถึงจากคนข้างหลัง  ผมยังจำไม่เคยลืมที่เปาะเต๊ะให้โอกาสผมได้สัมภาษณ์พร้อมแจกลายเซ็นและรูปถ่ายให้  บัดนี้ เขาคือตำนาน แม้กายสิ้น แต่ความรู้สึกสนุกขบขันที่เขาได้มอบให้พี่น้องมลายูและตัวผมเองยังคงอยู่ตลอดไป

ด้วยความเคารพ
บัญ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ถึงเปาะเต๊ะ




สวัสดีผู้อ่านทุกคน  ก่อนอื่นคงต้องกล่าวว่า "แล้วเราก็พบกันอีก"  หลังจากอัพข่าวคราวครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ 2 ปี ก่อน ผมก็มิได้เขียนอะไรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงการเพลงมลายูปาตานีอีกเลย  แต่กระนั้น ก็มิได้หมายความว่า ผมหมดเรื่องที่จะเขียนหรือไร้สิ้นข้อมูลพอที่จะนำมาเล่าให้ผู้อ่านได้ยลกัน  ปัญหาหลักๆ ของผมคือยุ่งเรื่องอื่น ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเพิ่งรู้สึกตัวว่า จวนเจียนจะสองปีแล้วที่ผมไม่เขียนอะไร

เอาละ หลังจากสาธยายอย่างยืดยาว ก็ขอเขียนถึงเรื่องของ "เปาะเตะ กูแบอีแก" แล้วกัน  ในฐานะศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งในวงการความบันเทิงของคนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้  จึงสมควรแก่เวลาที่จะพูดถึงเขาให้มากขึ้น (ผมเคยเขียนถึงเปาเตะครั้งหนึ่งที่นี่)  เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินข่าวชวนตกใจไม่น้อยเกี่ยวกับสุขภาพของเปาะเตะ คือเขาป่วยบริเวณกล่องเสียง ทำให้เพื่อนๆ ในวงการจึงช่วยกันจัดงานหาทุนในการรักษา  ผมเองก็อยากไปเยี่ยมเขา แต่ติดขัดที่ตอนนี้งานยุ่งอย่างมากและต้องเดินทางไกลหลายหมื่นลี้  ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพับแผนการนั้นไปก่อน  อย่างไรก็ดี ผมขอให้เขาหายป่วยไวๆ และกลับมาโลดเล่นบนเวทีเช่นเคย

ผมไม่เจอเปาเตะมานานหลายปีนับตั้งแต่ลงพื้นที่ และเนื่องจากเขาเป็นศิลปินที่มีงานชุกอย่างมากในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ทำให้หาโอกาสเจอตัวได้ยากมาก  แต่สุดท้ายผมก็ได้สัมภาษณ์เขา (โดยรายละเอียดจะกล่าวต่อวันหน้า (ถ้าว่างและมีแรงเขียน))  สิ่งที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ก็เก็บเอามาจากตอนสัมภาษณ์เปาะเตะที่บ้านกว่าชั่วโมง

อัลบั้ม "ออแฆ จารี เตาะแก" (คนหาตุ๊กแก) เป็นอัลบั้มพิเศษและขายดีที่สุดในทุกอัลบั้มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นท่านหนึ่ง (อ่านเอาในรูป)  ในขณะเดียวกัน อัลบั้มนี้ยังเป็นอัลบั้มรวมศิลปินเช่นเคย  เพราะเปาะเตะต่างจากนักร้องคนอื่นๆ คือไม่เคยออกเทปเดี่ยว แต่จะมีดาวรุ่งและเพื่อนศิลปิน "โนเนม" รวมทั้ง "ดาวตลก" คู่ขวัญร่วมด้วยเสมอ (คนที่โดดเด่นสุดคือ อุเซ็ง บือแต)  นั่นเพราะชื่อของเปาะเตะขายได้และติดตลาด  ดังนั้น การขายพ่วงเช่นนี้จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่แสนฉลาด อีกทั้งยังเป็นเหมือนสะพานให้ดินทะยานไปเป็นดาวได้อีกด้วย 

ไม่น่าประหลาดใจหลังทศวรรษ 2540 ชื่อของเปาะเตะค่อยๆ เรืองรองจ้าขึ้นเรื่อยๆ  การเปลี่ยนจากยุคเทปคาสเซ็ตไปสู่ซีดีและโดยเฉพาะวีซีดี ซึ่งการแสดงมิวสิควีดีโอประกอบเพลงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ  ถ้าพูดถึงเรื่องขบขันเบาสมองพร้อมกับเพลงสนุกๆ แล้วละก็ ทุกคนต้องนึกถึงเปาะเตะและอุเซ็ง คนที่เปาะเตะเล่าว่าแค่ปรากฏหน้าบนเวที โดยยังไม่ทันขยับปาก แฟนเพลงก็หัวเราะจนท้องแข็งแล้ว...  เรายังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเปาะเตะและผองเพื่อน แต่แน่ละ มิใช่วันนี้ที่ผมจะเอามาเล่าทั้งหมด  โปรดตั้งตารอ

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แอมมี่ ฟาร่าและตัวแทนนักร้องไทย เข้าประกวดร้องเพลงดังดุตระดับนานาชาติที่อินโดนีเซีย

ที่มาของภาพ: http://www.indosiar.com/news/Wakil-Timor-Leste-Bikin-Kejutan-Irsya-DA3-Banjir-Kritikan



นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทย  เมื่อเวทีประกวดร้องเพลงดังดุตของประเทศอินโดนีเซีย หรือรายการ Dangdut Academy Asia 2 ปีนี้ มีตัวแทนนักร้องเพลงดังดุตไทยเข้าร่วมท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศที่พูดภาษามลายู (มาเลเซียและอินโดนีเซีย) กันได้คล่องแคล่ว ได้แก่ อินโดนีเซีย (เจ้าภาพ) มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ติมอร์-เลสเต  สำหรับตัวแทนจากประเทศไทยถือเป็นการเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรก  อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาคือตัวเรียกสีสันเพิ่มเรตติ้งให้แก่รายการนี้เลยทีเดียว  ทั้งนี้ นักร้องไทยทั้งหมดมาจากพื้นที่ที่พูดภาษามลายูถิ่นปาตานี และมีความคุ้นเคยกับเพลงดังดุตที่มีต้นกำเนิดจากอินโดนีเซียเป็นอย่างดี  ดังนั้น แม้ดังดุตไม่ใช่ของแปลกสำหรับบรรดานักร้องจากผืนแผ่นดินมลายูที่อยู่ในประเทศไทย แต่เวทีประกวดเพลงดังดุตระดับนานาชาติครั้งนี้ดูน่าตื่นเต้นและยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเขา จึงได้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าท้าทายเป็นอย่างยิ่ง  ขอสดุดีและเป็นกำลังใจให้แก่นักร้องดังดุตจากชายขอบของโลกความบันเทิงมลายู-อินโดนีเซียด้วยคนครับ

หนึ่งในบรรดานักร้องจากประเทศไทยที่เข้าประกวดในหนนี้ มีนักร้องสาวนามว่าแอมมี่ ฟาร่า ทายาทอดีตราชินีเพลงมลายูปาตานี หรือที่รู้จักกันในนาม ด๊ะ กำปงปีแซ ก็เข้าร่วมประกวดด้วย เข้าใจว่าเป็นคนที่โดดเด่นที่สุดในการมาครั้งนี้ เพราะเธอมีชื่อเสียงพอตัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

เพลงแรกที่แอมมี่ใช้ประกวดคือเพลงแรกคือ Hello Dangdut  (สวัสดีดังดุต)  หลังร้องเพลงนี้เสร็จสิ้น
ริตา ซูกิอาร์โต (Rita Sugiarto) หนึ่งในคอมเมนเตเตอร์ให้ความเห็นว่า เสียงของแอมมี่สามารถร้องดังดุตได้แล้ว เพียงแต่ว่าต้องเพิ่มพลังเสียงในบางท่อนของเพลงนี้ เพราะเห็นได้ว่า บางท่อนขาดพลังที่ทำให้ดูน่าตื่นเต้นไป


ในขณะที่นักร้องไทยคนอื่นๆ ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก  อย่างเด๊ะนี (Deq Nee) นักร้องคนนี้ผมไม่รู้จักเธอมาก่อน เป็นไปได้ว่าเธอคงเป็นนักร้องหน้าใหม่ที่เข้าวงการเพลงมลายูได้ไม่นาน  อย่างไรก็ดี บนเวทีครั้งนี้ เธอก็ทำผลงานได้น่าพอใจ

เด๊ะนี กับเพลงแรกที่ใช้ประกวด Pesta Penen  ซึ่งได้รับคำวิจารณ์จากมาซิดายู (Masidayu) คอมเมนเตเตอร์ในรายการว่า เธอระมัดระวังในการร้องเพลงให้เกินไป ซึ่งทำให้ ขณะที่อีวาน คุณาวรรณ (Ivan Kurnawan) แฟชั่นนิสต์ชื่อดังและเป็นหนึ่งในคอมเมนเตเตอร์ ให้ความเห็นว่า เครื่องแต่งกายของเด๊ะนีดูสดใหม่ แม้ว่าในขณะร้องเพลง สายตาของเธอยังไม่ได้สื่อความรู้สึกของเพลงออกมา หรือยังไม่ได้สนทนากับผู้ชม  อย่างไรก็ตาม เธอเลือกเพลงมาร้องได้ดีฟังแล้วดูสดใส่ร่าเริง ไปกันได้กับชุดที่สวมใส่



และเพลงที่สองในเพลง Sumpah Benang Emas


รายการ Dangdut Academy ซีซั่น 2 นี้ จะถ่ายทอดสดในสถานีโทรทัศน์ช่อง Indosiar ของประเทศอินโดนีเซีย

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บารูดิง: รูเมาะฮ์ แซวอ


หลายเดือนก่อน ผมสอบถามบารูดิงว่า อัลบั้มที่ออกคู่กับลูกสาวคนสุดท้องจะเป็นอัลบั้มสุดท้าย? แน่นอนว่าบาบอตอบผมว่า อาจเป็นไปได้ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ อัลบั้ม "รูเมาะฮ์ แซวอ" ของบารูดิงกับลูกสาวก็ไม่ใช่อัลบั้มสุดท้าย  ดูเหมือนเขายังมีความสุขกับชีวิตร้องเพลงและคงปั้นลูกสาวคนเล็ก "อาเดะ ตีน่า" ขึ้นมาเป็นทายาทเพลงของเขา


วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บารูดิง นักร้องดังกำลังจะแขวนไมค์!

ล่าสุดเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสโทรไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบบารูดิงตามประสาคนรู้จัก   บารูดิงเผยว่า อัลบั้มที่กำลังทำอยู่นี้ จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายในแวดวงเพลงดิเกร์มิวสิค  เนื่องจากมีอายุมากและเสียงไม่ค่อยดีแล้ว  หลังจากอยู่ในวงการนี้มากว่า 30 ปี จึงถือเป็นเวลาอันควรแล้วที่จะปิดฉากอาชีพนักร้องของเขา   อย่างไรก็ดี นี่เป็นแค่อัพเดตสั้นๆ ค่อยมาเขียนรายละเอียดคราวหลังนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

นาเซ บางปู: แซกอ กูแม

เพิ่มคำอธิบายภาพ
อัลบั้ม: นาเซ บางปู รวมฮิต
ศิลปิน: นาเซ บางปู
01 อาเนาะ ปาตา (เด็กชายเล)
02 แซกอ กูแม (แมลงภู่ตัวหนึ่ง)
03 เศรษฐกิจ รอนี (เศรษฐกิจวันนี้)
04 แดมอ ออแร ตีงี
05 กาแว ฮูโตะ
06 กียอ มอตอง (กรีดยาง)
07 ดูนียอ สือกาแร (โลกทุกวันนี้)
08 ออแร ตูวอ เตาะ ซาแย (พ่อแม่ไม่รัก)
09 กางเกงริมแดง
10 มาซิมารักกัน
11 กาแว เตาะเซ (ฉันไม่เอา)
12 บือนอ เตาะ นาเปาะ

สวัสดีครับ นี่คืออัลบั้มเพลงที่รวบรวมเพลงฮิตหรือเพลงดังของ "นาเซ บางปู" นักร้องจากจังหวัดปัตตานี มาทำใหม่ในรูปแบบวีดีโอซีดี (VCD) ซึ่งมีการถ่ายทำมิวสิควีดีโอหรือละครสั้นประกอบอีกด้วย  นาเซ บางปู เป็นนักร้องคนแรกๆ ที่นำความสำเร็จในแง่ยอดขายมาสู่บริษัท ซาวด์สตาร์ปัตตานี จำกัด  แต่เขามีอายุในอาชีพร้องเพลงซึ่งเขารักมากเพียงระยะเวลาสั้นๆ  นายห้างคำรณ จรรโลงศิลป หรือ "แบเล็ง" ของนักร้องมลายูเล่าว่า "ก่อนหน้านี้นาเซเป็นชาวประมง เดินทางมาบอกกับแกว่าอยากเป็นนักร้อง  ทางเราก็ให้โอกาสเขา แต่ทำออกมาเพียง 2 อัลบั้ม (เทปคาสเซ็ต) ก็ยุติ เพราะเสียงร้องไม่ดีเช่นเดิม"  อย่างไรก็ดี หลังทศวรรษ 2540 เมื่อยุคเทปคาสเซ็ตค่อยๆ ลดความนิยมลง โดยถูกแทนที่แผ่นซีดีและวีซีดี  นาเซ บางปู ก็กลับมาปรากฏอีกครั้ง  แน่นอนว่าเป็นการนำเอาเพลงดังในอดีตของเขามาบันทึกเสียงใหม่อีกครั้ง เช่น
 เพลงแซกอ กูแม (แมลงภู่ตัวหนึ่ง)  กางเกงริมแดง เป็นต้น ซึ่งเป็นเพลงดังช่วงทศวรรษ 2530 ของเขา


วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ลีซา: แดมอ กู ฆีลอ

เพิ่มคำอธิบายภาพ
วันนี้นั่งฟังเพลงดิเกร์มิวสิคเพลิน ๆ แต่บังเอิญก็ไปเปิดเจอเพลงของนักร้องคนนี้ ซึ่งที่จริงผมเคยสอบถามเรื่องราวของเธอจากมิตรสหายชาวมลายูแล้ว แต่ไม่สบโอกาสเขียนถึงเธอเสียที นักร้องคนนี้มีชื่อว่า "ลีซา" ครับ เป็นลูกสาวของ "ตูแฆกาโระ" ดิเกร์ฮูลูชื่อดังในอดีต "ซูเด็ง ยามู" (ซูเด็งเคยร้องเพลงแนวดิเกร์มิวสิคด้วย แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ) เสียงของเธอค่อนข้างแปลก มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ผมว่าก็เพราะดีนะ ถึงแม้มิตรสหายชาวมลายูของผมบอกว่า เสียงเธอเหมือนกับแพะก็ตาม ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าเธออยู่ไหนและทำอะไรอยู่ ใครรู้ก็ช่วยมาบอกด้วยนะครับ  สำหรับเพลงของลีซาที่ผมได้เอามาแปะให้ฟังที่นี่ชื่อว่าเพลง "แดมอ กู ฆีลอ" (ผมขอแปลว่า เธอคือคนที่ฉันคลั่งใคล้ หยวนๆ เอานะครับ ภาษามลายูตานิงผมไม่ค่อยแข็งแรง เข้าใจผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ ใครรู้ช่วยบอกด้วยนะ อิอิ) เชิญฟังกันเรยครับ


เปาะเต๊ะ กูแบอีแก: ในวันที่กลับคืนสู่ความเมตตาของพระเจ้า

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน หลายปีมานี้ผมไม่ได้เข้ามาเขียนอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับเพลงมลายูเลย เนื่องจากมีพันธกิจมากมายที่ยังทำไม่เสร็จ  อย่างไรก็ตาม เ...